Abraham-Louis Breguet the Watchmaker of All Time
Self-winding Perpétuelle : กำเนิดออโตเมติก
สมัยก่อนนาฬิกาใช้การหมุนขึ้นลานและเพื่อให้ลานใช้ได้หลายวัน กระปุกลานจึงใหญ่มาก ทำให้นาฬิกาพกในสมัยก่อนมีขนาดใหญ่และหนา เพื่อเก็บลานให้ยาวขึ้น คุณทวดจึงคิดคำนวณกลไกขึ้น คำนวณตั้งแต่ความเร็วในการปล่อยลาน ระยะความยาวของลาน ทำใหม่ทั้งหมดและได้ออกมาเป็นจักรกรอก หรือโรเตอร์ขึ้นลานที่เราเห็นหมุนๆ กันด้านหลังนาฬิกาที่เปลือยด้านหลัง โรเตอร์ตัวแรกของโลกเป็นแผ่นแพลตทินัม และเสร็จสมบูรณ์ออกมาเป็นกลไกออโตเมติกพร้อมใช้งานในปี 1780 โดยนาฬิกาออโตเมติกเรือนแรกของโลกนี้ถูกขายให้กับ Duc d’Orléans ผู้มีตำแหน่งทางการเมืองจนทำให้นาฬิกาเรือนนี้โด่งดังไปทั่วยุโรปพร้อมกับชื่อของ Abraham-Louis Breguet ครับGongs for Repeating Watches : ค้อนบอกเวลา
นาฬิกาขั้นสูงต้องมีเสียงเตือนเมื่อถีงเวลา สมัยก่อนใช้กระดิ่งใส่เข้าไปครับ จึงเป็นอีกครั้งที่ Breguet ต้องการลดขนาดอันเทอะทะของนาฬิกาลง จึงคิดใหม่ทำใหม่ได้ออกมาเป็นสปริงรอบตัวเรือนถัดจากกลไกให้เสียงใส กังวานและติดตั้งโลหะแทนค้อนในการเคาะบอกเวลาเมื่อถึงกำหนด ปกติการจะทุก 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมง แต่ทำทั้งที Breguet คิดค้นใหม่ให้ตั้งกันรายนาทีได้เลยครับ จากกระดิ่งกลายเป็นสปริงบางๆ โลกนาฬิกาถึงกับตื่นตัวและพร้อมใจกันนำสิ่งประดิษฐ์นี้มาใช้แทนของเก่าตั้งแต่นั้นมาครับFirst Shock-Protection : ชุดซับแรงสั่นสะเทือน
ไม่ใช่แค่รถที่มีระบบกันสะเทือน แต่ Breguet ให้ความสำคัญกับเวลาอย่างยิ่ง นาฬิกาของเขาต้องเที่ยงตรงที่สุด สมัยก่อนนาฬิกาพกจะถูกใส่ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกง เกิดแรงสั่นสะเทือนจากการเคลื่อนไหวเยอะ แกนของ Balance Wheel จะสั่นสะเทือนและมีผลให้เวลาผิดเพี้ยนไป Breguetจึงออกแบบแกนยึดทรงกรวยและมีจานรองสำหรับยึดเข้ากับชุด Balance Wheel และสปริงซับแรงชื่อดัง Breguet Coil ให้สามารถยืดหยุ่นต่อแรงสั่นสะเทือน ส่งผลให้นาฬิกาของ Breguet บอกเวลาได้เที่ยงตรงอย่างมาก และกลไกนี้มีชื่อเรียกว่า Parechute หรือ Parachute ที่แปลว่าร่มชูชีพในภาษาอังกฤษนั่นเองครับ
แม้ปัจจุบันจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย แต่พื้นฐานในการสร้างกลไกออโตเมติก หรือระบบกันสะเทือน และรูปแบบของค้อนในระบบ Repeater ก็ยังใช้สิ่งที่ Breguet คิดขึ้นครับ ยังไม่นับอีกหลายชิ้นส่วนมากมาย เช่น Breguet Overcoil ใช้อย่างแพร่หลายจนทุกวันนี้ เรียกว่าไม่ผลิตก็เหมือนผลิตเอง นาฬิกาทุกเรือนต่างมีชิ้นส่วนจากความคิดและออกแบบของ Breguet และจากนี้เรามาชมนาฬิกาสำคัญในประวัติศาสตร์ของ Breguet กันครับ
Clock No. 178
นาฬิกาตั้งโต๊ะทรงเสาดอริกทำจากทองแดง หน้าปัดเงินประดับ Moonphase แสดงวัน, วันที่และเดือน พร้อมกลไก Quarter Repeating หรือมีเสียงเตือนทุก 15 นาที ถ้าคุณเป็นเจ้าของจะซื้อไปตั้งที่ไหนกัน ด้วยรูปลักษณ์และงานฝีมือจาก Breguet เราๆ คงซื้อไปตกแต่งบ้านให้คอยบอกเวลาหรือใช้บนโต๊ะทำงาน แต่เรือนนี้ไปไกลกว่านั้นเพราะ Napoleon Bonaparte จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสได้ซื้อเพื่อนำไปใช้ในการออกรบที่อียิปต์ในปี 1798 ครับ คอยแจ้งเตือนเวลาไม่ให้พลาดแผนการรบหรือรวมพลซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสงครามThe Marie-Antoinette Pocket Watch
นาฬิกาพกที่รวมทุกฟังก์ชันการใช้งานและงานฝีมือขั้นสูงในสมัยนั้นด้วยงบประมาณและเวลาในการสร้างสรรแบบไม่จำกัด ตามคำสั่งซื้อของพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต นาฬิการะดับมาสเตอร์เรือนนี้อัดแน่นไปด้วย Minute Repeater, Perpetual Calendar, Equation of time (ค่าเวลาเฉลี่ยจากการเปลี่ยนมุมของดวงอาทิตย์ หรือค่าเวลาสุริยะเฉลี่ยทางดาราศาสตร์ หรือง่ายที่สุดคือเป็นหลักการอันเป็นที่มาของนาฬิกาแดดครับ), Power Reserve Indicator, Metallic thermometer, ชุดเข็มวินาทีแบบอิสระ, ชุด Escapement และ Overcoil ของ Breguet และ ติดตั้งชุดกันแรงสั่นสะเทือนแบบ Double Pare-Chute Shockproofing ถือเป็นนาฬิกาที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา ใช้เวลารังสรรค์ตั้งแต่ ปี 1783 - 1827 นาฬิกาเริ่มผลิตจากฝีมือของ Breguet แต่สร้างเสร็จด้วยลูกชายของเขา Antoine-Louis Breguet หลังจาก Breguet เสียชีวิตได้ 4 ปี หรือหลังจากพระราชินีมารีสิ้นพระชนม์ไปแล้ว 34 ปี ปัจจุบันนาฬิกาได้รับการดูแลอย่างดีในพิพิธภัณฑ์สมกับคุณค่าที่มีอยู่ในตัวBreguet Pocket Watch No. 2667
นาฬิกาพกสไตล์ Neoclassic มีวงบอกเวลา 2 วง แต่สิ่งสำคัญของนาฬิกาเรือนนี้คือ Breguet ได้นำงานฝีมือที่เรียกกันว่ากิโยเช่ (Guilloche) อันเป็นการแกะลวดลายลงบนวัสดุเพื่อการตกแต่ง แต่ครั้งนี้ Breguet ได้จัดเต็มแกะทั้งตัวเรือน ด้านนอกในแกะหมดครับ ซึ่งวัตถุประสงค์ของ Breguet ไม่ใช่เพียงเพื่อความงาม แต่การแกะลายที่ด้านนอกนาฬิกาพกเพื่อป้องกันลื่นหลุดมือตอนหยิบจับครับ แต่ทำทั้งทีแล้วก็ต้องทำให้ดี งานจึงออกมาสวยงามและตั้งแต่นั้นจึงเป็นเหมือนบรรทัดฐานของนาฬิการะดับสูงที่ต้องใช้งานกิโยเช่เป็นส่วนประกอบ ปัจจุบันกิโยเช่จัดเป็น 1 ในมาตรฐานสำหรับนาฬิกาที่ต้องการรับตรารับรอง Geneva Seal ด้วยครับTactful Watch
อีกครั้งที่ Breguet สร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้กับโลกเวลา ในยุคสมัยที่การดูเวลาจากนาฬิกาพก หยิบตัวเรือนแล้วเปิดฝาเพื่อดูเวลาภายใน Breguet คิดไปไกลกว่านั้น ทำไมต้องเปิดดู แล้วถ้ามืดมองไม่เห็นจะรู้ได้อย่างไร นาฬิกาพกปกติแต่มีลูกศรอยู่ด้านบนของฝาเปิดมีจุดเชื่อมต่อกลไกที่หน้าปัดภายใน วางอัญมณีรอบเคสแทนหลักเวลา ใช้ห่วงคล้องโซ่สำหรับนาฬิกาพกแทนหลักเวลาที่ 12 นาฬิกา เพียงใช้มือคลำตำแหน่งของปลายลูกศรและนับหลักเวลาจากการสัมผัส ก็สามารถรู้เวลาได้ง่ายแม้ไม่ต้องมอง หรือจะเปิดดูเวลาตามปกติก็ทำได้เช่นกัน นาฬิกาเรือนนี้จึงถูกเรียนว่า Tact Watch หรือ Tactful Watch สมกับความคิดอันแยบคายนี้นั่นเองครับThe Tourbillon
และสุดท้ายทั้งที หนีไม่พ้นผลงานอมตะแห่งโลกเวลา Tourbillon ครับ Breguet เป็นบุคคลผู้มีความรู้ในศาสตร์หลายแขนงรวมทั้งดาราศาสตร์ จึงนำชื่อ Tourbillon ที่หมายถึงวงโคจรของดวงดาว อันเป็นที่มาของการคิดคำนวณเวลามาตั้งให้กับกลไกใหม่ของเขา Tourbillon เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาแรงโน้มถ่วงที่ส่งผลกับชุดกลไกคำนวณเวลาทำให้เดินผิดเพี้ยนในขณะที่เก็บในกระเป๋า Breguet จัดทำสิ่งที่เราเรียกกันว่า “กรง” แล้วนำชุดกลไกใส่ไว้ข้างในแล้วกลไกทั้งชุดหมุนรอบตัวเองช้าๆ เพื่อลดแรงกดของแรงโน้มถ่วง ถือเป็นที่สุดแห่งกลไกเวลาและทุกๆ คนต่างใฝ่ฝันจะมีสักเรือนในชีวิตครับข้อความในจดหมายของ Breguet เพื่อยื่นขอจดสิทธิบัตร Tourbillon ครับ
Quai de l’Horloge No 5.
.
ลาจากกันด้วยรูป Time Line นวัตกรรมของ Abraham-Louis Breguet หวังว่าจะสนุกกับเรื่องราวในครั้งนี้ สวัสดีครับ
ขอบคุณข้อมูลมากมายจาก
- https://www.breguet.com
- https://www.horobox.com
- https://www.hodinkee.com/
- https://www.napoleon.org
- https://www.timeandwatches.com/
- https://www.computissimo.ch
- https://www.jckonline.com
- https://robbreport.com
- http://en.worldtempus.com/
- https://peoplepill.com/people/abraham-louis-breguet