AP Royal Oak Offshore, The Rebellion ปฐมบท : งานระดับมาสเตอร์พีซที่ฉีกทุกกฎ
คำสาปแห่ง “The Beast”
ในปี 1993 Audemars Piguet ได้เปิดตัวนาฬิกาคอลเลคชันใหม่ในชื่อว่า Royal Oak Offshore แต่รู้ไหมครับว่าในวันเกิดของ Royal Oak Offshore เกือบจะกลายเป็นวันชะตาขาด นาฬิกาที่มีพันธุกรรมทางเวลาเช่นเดียวกับต้นตระกูล Royal Oak ที่หล่อเนี้ยบ สุขุมลุ่มลึกแต่เข้มแข็งเปรียบได้กับ The God Father ก็ไม่ปาน แต่ลูกที่เกิดมาแม้จะหน้าตาหล่อคล้ายพ่อ แต่ดันกล้ามโต บึกบึน ห้าวเป้งขาลุยยังกะ God of War ถึงขนาดที่ปู่ Genta เมื่อได้พบเจอถึงกับร้องลั่น “ม่ายยยย เจ็บแค้นเคืองโกรธโทษฉันใด ทำไมถึงทำกับผลงานของฉันได้” พร้อมหันหลังวิ่งโวยวายออกจากบูธของ AP ไป ซึ่งปู่รับไม่ได้กับดีไซน์ใหม่ที่ทำให้งานระดับมาสเตอร์พีซของปู่แปดเปื้อน เห็นปู่เป็นแบบนี้สื่อมวลชนและคนทั้งหลายก็พร้อมใจกันกระหน่ำซัดกันเมามันจนถึงขั้นตราหน้า Offshore ว่าเป็นตัวนำหายนะมาสู่ AP แน่นอน แต่นั้นมานาฬิกาเรือนนี้จึงถูกตราหน้าว่าเป็น “The Beast” ครับ อ่านแล้วคุ้นๆ กันไหม ไม่ต่างจากครั้ง Royal Oak เปิดตัว ย้อนรอยเดียวกันเป๊ะขนาดนี้ทำไมปู่ไม่เข้าใจหนอ จุดจบทุกคนเดาออกกันแล้วแน่นอน แต่ความสนุกระหว่างทางจากวีรกรรมของ The Beast นี่สิครับที่หลายคนไม่รู้ว่าทำให้วงการนาฬิกาเปลี่ยนไปมากมาย“อิตาลี” ผู้มาก่อนกาล
หลังจากเมาหมัดจากการโดนบูลลี่ตั้งแต่เกิด Offshore ได้ออกเดินทางกลับสู่อ้อมกอดของเมืองแห่งแฟชั่นและศิลปะอีกครั้ง เหล่าคนรุ่นใหม่ที่มีฐานะชั้นสูงในเมืองแห่งแฟชั่นและศิลปะต่างตอบรับ Offshore กันล้นหลามเหมือนครั้ง Royal Oak ครับ Offshore ที่มาพร้อมตัวเรือนสเตนเลส สตีลขนาด 42 มม. ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดของนาฬิกาข้อมือในยุคนั้นและมีน้ำหนักเอาการแต่เหล่าอิตาเลี่ยนชนไม่หวั่น กลับมองถึงคุณค่าในเชิงศิลปะที่กล้าจะแตกต่างจากการออกแบบร่วมสมัยและคุณค่าเชิงฝีมือของช่างผู้ผลิต และยิ่งเป็นกระแสมากขึ้นเมื่อนักกีฬาสกีระดับเหรียญทองโอลิมปิค 3 สมัยซ้อน Tomba “La Bomba” เลือกใส่ The Beast ตั้งแต่นั้นโลกนาฬิกาจึงส่งสายตาปริบๆ เริ่มกลับมาทบทวนถึงเจ้าชายอสูรตนนี้กันใหม่หลังปล่อยให้ชาวอิตาลีเพลิดเพลินกับงานระดับโลกชิ้นนี้กันไปนานแล้วพ่อหมอ, พ่อมดและ The Beast
อีกครั้งที่ผู้บริหารของ AP Stephen Urquhart ทำตัวไม่ต่างจากพ่อหมอผู้มองอนาคตได้ เขามอบภาระชิ้นใหญ่ให้กับ Emmanuel Gueit นักออกแบบที่อยู่ในวัยเพียง 20 ต้นๆ ณ เวลานั้น ออกแบบนาฬิกาที่จะเป็นอีกเสาหลักของแบรนด์เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับ Royal Oak แม้ว่า Gueit จะเป็นเด็กน้อยแต่เขากล้าที่จะออกนอกกรอบจากงานออกแบบอันยิ่งใหญ่ที่ปู่ Genta ทิ้งไว้แบบที่ไม่มีใครกล้าแตะ ทุกเสียงต่างคัดค้านในสิ่งที่เขาทำแม้จากคนภายใน AP เองก็ตาม แต่หากดูกันให้ดีผมคิดว่า Gueit ให้ความเคารพมรดกชิ้นสำคัญอย่างมาก เพราะเขายังใช้ตัวเรือนแปดเหลี่ยมและการออกแบบหน้าปัดเวลาแทบจะเหมือนเดิมทั้งหมด แต่อย่างว่าครับเมื่อปู่ Genta ส่ายหน้าและ Royal Oak ณ เวลานั้นก็ถือว่าขึ้นหิ้งตำนานไปแล้วการทำให้ต่างและดีจึงยากนัก เรามาดูกันครับว่าเด็กหนุ่ม Gueit ทำอะไรกันบ้างThe Beast ใหญ่ขึ้นเป็น 42 มม. เพราะมี Chronograph และการใช้กรงเหล็กอ่อนป้องกันกลไกจากสนามแม่เหล็ก นาฬิกาเรือนนี้จึงเป็นการออกแบบเพื่อรองรับฟังก์ชันไม่ใช่ใส่ฟังก์ชันตามการออกแบบครับ และเป็นจุดเริ่มต้นของนาฬิกาไซส์ใหญ่ในปัจจุบันอีกด้วย
“Tapisserie” พื้นหน้ายังใช้ลายตารางเพียงแต่ปรับให้มีขนาดที่ดูใหญ่กว่า Royal Oak ที่ลายละเอียดกว่า (Petit Tapisserie) ครับ
Tachymeter และวงบอกเวลาย่อยของ Cronograph ที่เพิ่มเข้ามา และข้อนาฬิกาที่ออกแบบให้ดูกลมมนขึ้นเพื่อรับกับตัวเรือน ซึ่งเป็นอีกจุดที่ใครๆ ก็บ่นกัน
The Beast ผู้นำเทรนด์ด้วย Therban® นวัตกรรมใหม่ ณ เวลานั้นด้วยการนำยางมาหุ้มกับชิ้นส่วนและจากนั้นแบรนด์อื่นๆ ก็ทำตามเช่นเคยครับ
สังเกตชื่อฝาหลังยังคงใช้เพียง Royal Oak ไม่มี Offshore ต่อท้ายครับ AP จึงโดนข้อหาเอาปู่ Genta มาบังหน้า ซึ่งข้อนี้ก็ไม่ผิดครับ น่าจะหวังพึ่งบารมีตามที่ว่าจริงๆ นั่นแหละและทั้งหมดนี้คือ The Beast ในวันแรกที่ออกสู่สายตาชาวโลก นาฬิกาที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นและมองการณ์ไกลที่มีพ่อหมอตาทิพย์ Urquhart ผลักดันไม่ฟังเสียงค้านใครๆ เห็นแล้วเป็นยังไงกันบ้างครับ แต่นี่เป็นแค่จุดเริ่มของตำนานบทใหม่เท่านั้น เรื่องมันส์ๆ จากเจ้าชายอสูรตนนี้ที่ทำให้โลกนาฬิกาเกิดการเปลี่ยนแปลงและเหล่านักสะสมแทบพลิกแผ่นดินในการสะสมยังมีอีกมาก ติดตามกันต่อนะครับ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
- https://www.phillips.com/article/55554450/a-guide-the-audemars-piguet-royal-oak-offshore-aka-the-beast
- https://www.fratellowatches.com/audemars-piguet-royal-oak-offshore/
- https://watchbase.com/audemars-piguet
- https://www.watchcollectinglifestyle.com