Royal Oak Offshore The Challenger บทส่งท้าย : ตำนานของเหล่านักท้าทาย
และแล้วก็มาถึงบทส่งท้ายกับอสูรร้ายอันเป็นที่รักของคนทั่วโลก นับจากวันที่ Offshore เปิดตัวและฉีกกรอบเดิมๆ ทั้งจากขนาดตัวเรือน ฉีกดีไซน์ระดับตำนานของ Royal Oak ที่สร้างยอดขายมหาศาล และที่เป็นเสน่ห์ที่สุดอันนำมาสู่การตื่นตัวครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลกนาฬิกาคือการ Mix&Match วัสดุต่างๆ ครับ จะแหวกจะแปลกยังไงมาดูไปพร้อมกันครับ
สตีลไม่ใช่สปอร์ต ให้มันจบในรุ่นเรา!!!
ณ เวลานั้นวัสดุที่นำมาใช้กับนาฬิกานั้นจะใช้เพียงสเตนเลส สตีลสำหรับสปอร์ต ทองทั้งหลายสำหรับนาฬิกาเดรสเท่านั้น แต่ Offshore ไม่สนครับ เดินหน้าลุยสร้างความแตกต่างตามจินตนาการออกผู้ออกแบบและทิศทางที่จะก้าวไป AP ได้ส่ง Offshore ที่หนักที่สุดและเบาที่สุดคืออสูรสองตัวต่อมาที่ตามออกมาป่วนโลกครับ
เบาที่สุด
Royal Oak Offshore Ref. 25721TI คือคู่แฝดหยินหยางกับแพลททินัม ด้วยน้ำหนักที่เบาที่สุดจากไทเทเนียม และสังเกตที่หน้าปัดดีๆ การใช้สีทูโทนระหว่างพื้นหน้าปัดและวงเวลา นี่คือจุดเริ่มต้นออกการออกแบบหน้าปัด ซึ่ง AP ได้ใช้อสูรไทเทเนียมนี้เหมือนหินถามทาง นำเสนอการออกแบบใหม่ๆ ที่จะใช้ต่อไปในอนาคตและกลายเป็นที่มาของหน้ายอดนิยมตลอดกาลอย่าง หน้า Navy Blue, Panda และ Safari ซึ่งหลายๆ แบรนด์ก็ได้นำไปใช้ตามนั่นเองครับ
จุดกำเนิดแห่ง หน้า Panda, Navy Blue ที่ฮิตกันในปัจจุบันก็มาจากอสูรร้ายนี่แหละ
สปอร์ตไม่ใช่แค่สตีล
Royal Oak Offshore Ref. 25721BA ด้วยตัวเรือนทองคำทั้งหมดที่เข้าได้กับหน้าสีเข้มสวยๆ จนถูกเรียกว่า “The Beauty” เคียงคู่กับ The Beast ครับ ซึ่งเรือนนี้ถือเป็นโมเดลแรกในสายการผลิตที่ใช้วัสดุเช่นนี้ ถือเป็นการประกาศว่า Offshore นั้นไม่ใช่แค่เพียงนาฬิกาสปอร์ตเท่านั้น แต่เป็นคอลเลคชันอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้กับนาฬิกาที่จะตามมา กรุณาอย่ามาจำกัดคุณค่าและตีกรอบ Offshore โดยเด็ดขาด!!!
The Beauty ยังถูกเรียกอีกชื่อว่า The Pounder ด้วยน้ำหนักที่เยอะ และอีกครั้งที่ AP นำลูกเล่นการจับคู่สีระหว่างวัสดุตัวเรือนและหน้าปัดที่หลากหลาย สร้างความแปลกใหม่ในเวลานั้นอย่างมากครับ ทั้งหน้าแชมเปญบนตัวเรือนทองคำ และของแปลกสุดๆ อีกเรือนที่ จนถึง ณ ปัจจุบันเคยปรากฎในการซื้อขายแค่ 4 เรีอนเท่านั้นกับตัวเรือนสตีล ขอบบาเซิล Rose Gold บนหน้าปัดน้ำเงินครับ
หล่อ รวย เท่และคลาสสิค นิยามใหม่ของความสปอร์ต
Royal Oak Offshore Ref. 25854BC เป็นรุ่นถัดมาที่ AP ทำให้ภาพของความไม่สิ้นสุดจาก Offshore และนิยามความเป็นนาฬิกาสปอร์ตในสมัยนั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การนำ Perpetual Calendar ที่เราเห็นมากมายในนาฬิกาทุกวันนี้ แต่หากเป็นในปี 1997 แล้วการเห็นฟังก์ชันนี้ในนาฬิกาที่ถูกจัดว่าเป็นสปอร์ตถือเป็นเรื่องใหม่ทีเดียวครับ และแน่นอนว่า AP ที่ตอนนี้สนุกสนานไม่สนโลกได้นำ Perpetual Calendar หรือเรียกย่อๆ ว่า QP นี้ใส่ในตัวเรือนตั้งแต่สตีลและวัสดุอื่นๆ แบบไม่แคร์สื่ออีกครั้ง
อสูรสุดชิค จี๊ดจ๊าด อะโลฮาฮาวาย
Royal Oak Offshore “The Tropical Beast” Ref. 25770ST.OO.0009.XX
คอลเลคชันสุดท้ายที่นักสะสมจัดให้เป็นชุดหายากที่สุดสำหรับ The Beast ครับ กับอสูรแฟชั่นหลากสี ถ้าจะเก็บให้ครบละก็ต้องมีทั้งหมด 8 สีครับ ความพิเศษของชุดนี้ถือเป็นทัพหน้าตีฝ่ากรอบการใช้สายสตีลกับนาฬิกาสปอร์ต AP นำเสนอในครั้งแรกด้วยสายหนังแถมยังเป็นหลากสีตามสีหน้าปัด ไม่ใช่หนังสีดำซะด้วยครับ ก่อนที่ต่อมาเราจะได้เห็นสายยาง สายผ้าต่างๆนานา ในยุคปัจจุบันต่างก็มาจากการฉีกกรอบของอสูรร้ายตนนี้ทั้งนั้นครับ
สุดท้าย DNA ยังคงอยู่
การต่อยอดจากสิ่งที่จัดว่า Perfect อยู่แล้วให้ดีเช่นเดิมแต่ในมุมที่แตกต่างยากมากๆๆๆ ครับ แม้ปู่ Genta ที่ผมรักอาจจะปฏิเสธลูกหลานเรือนนี้ แต่สำหรับผมแล้วขอคาราวะวิสัยทัศน์และการออกแบบของ AP ที่สามารถนำเสนอ DNA ของ Royal Oak ในแบบที่แตกต่างแต่คงคุณค่าดั้งเดิมไว้ครบถ้วนจริงๆ พิสูจน์จากเมื่อเราได้พบเจอ The Beast ในรูปแบบใดไม่ว่าจากวัสดุที่หลากหลาย สีหน้าปัดหลากสี หรือแม้กระทั่งสายนาฬิกาที่ไม่ใช่สายเหล็กเราจะร้องอ๋อทันทีและคำว่า “นาฬิกา AP” บ้าง “Royal Oak” บ้าง หรือ “Offshore” บ้าง แล้วแบบนี้ยังจะนอกคอกอยู่ไหมครับปู่
ลูกหลานจากการบุกเบิกของ The Beast ที่เราพบเห็นและรู้จักกันเป็นอย่างดีในทุกวันนี้ครับ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงมากมายจาก Alfredo Paramico นักสะสมผู้เป็นเจ้าของ Offshore ทุกรุ่นที่นำเสนอในครั้งนี้ผ่านการสัมภาษณ์จากสื่อในต่างประเทศครับ